พลเมือง(เด็ก)ดิจิทัล
คำว่า “พลเมืองเด็กดิจิทัล” (Digital Citizenship for Children) หมายถึงการที่เด็กมีความสามารถและทักษะในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมีความรับผิดชอบ ปลอดภัย และมีจริยธรรม(ขวัญชาติ ดาสา 2567) ในขณะเดียวกันยังสามารถใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้มีประสิทธิภาพ การเป็นพลเมืองเด็กดิจิทัลไม่เพียงแต่หมายถึงการใช้อินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ดิจิทัลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเข้าใจถึงผลกระทบของการกระทำในโลกดิจิทัล การรักษาความเป็นส่วนตัว การใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้และการทำงานร่วมกับผู้อื่น รวมถึงการเข้าใจสิทธิและหน้าที่ในโลกดิจิทัล เพื่อให้สามารถปรับตัวและใช้ชีวิตในสังคมที่เชื่อมโยงกันในยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย และการมีส่วนร่วมในชุมชนออนไลน์อย่างสร้างสรรค์
องค์ประกอบหลักของพลเมือง(เด็ก)ดิจิทัล
- การรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy): มีความสามารถในการค้นหา ประเมิน และใช้ข้อมูลดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ การรู้เท่าทันดิจิทัลยัง สามารถใช้งานเครื่องมือดิจิทัลต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม
- ความปลอดภัยออนไลน์ (Online Safety): มีความรู้วิธีการป้องกันตนเองจากภัยคุกคามทางออนไลน์ เช่น การหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตและการคุกคามไซเบอร์ การป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลและการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาความปลอดภัยออนไลน์
- ความรับผิดชอบในโลกดิจิทัล (Digital Responsibility): การปฏิบัติตามกฎและจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยีและสื่อสังคมออนไลน์ การใช้เทคโนโลยีในทางที่ถูกต้องและไม่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น รวมถึงการแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมในโลกดิจิทัล
- การมีส่วนร่วมในสังคมดิจิทัล (Digital Participation): การใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ การสร้างสรรค์ และการร่วมมือกับผู้อื่นในชุมชนดิจิทัล การมีส่วนร่วมในกิจกรรมออนไลน์อย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพช่วยเสริมสร้างทักษะและประสบการณ์ที่มีคุณค่า
พลเมือง(เด็ก)ดิจิทัล ต้องมีความฉลาดทางดิจิทัล 5 ด้าน
ด้านที่ 1 อัตลักษณ์ดิจิทัล (Digital Identity) เพื่อให้สามารถสร้างอัตลักษณ์ที่ดีและมีมารยาทในโลกดิจิทัล
ด้านที่ 2 การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเหมาะสม (Digital Use) เพื่อให้สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมทั้งในมิติของเวลา อุปกรณ์ การจัดการอารมความรู้สึกและความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น
ด้านที่ 3 การจัดการความปลอดภัยในโลกดิจิทัล (Digital Security) เพื่อให้สามารถหลีกเลี่ยง ป้องกัน และรบมือกับความเสี่ยงและภัยคุกคามออนไลน์ได้
ด้านที่ 4 การรู้เท่าทันดิจิทัล (Digtal Literacy) เพื่อให้สามารถใช้งานข้อมูล ข่าวสาร และสื่อออนไลน์ต่างๆที่มีความน่าเชื่อถือและสามารถสร้างสรรค์สื่อดิจิทัลได้อย่างสร้างสรรค์
ด้านที่ 5 การสื่อสารดิจิทัล (Digital Communication) เพื่อให้สามารถใช้เครื่องมือออนไลน์ต่างๆ ในการติดต่อสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งรู้จัก เข้าใจ และจัดการกับร่องรอยดิจิทัลที่ส่งผลดีต่อตนเองได้
เรียบเรียงโดย ขวัญชาติ ดาสา นักวิชาการอิสระ และสื่อมวลชนเพื่อเด็กและเยาวชน
แหล่งที่มา https://www.etda.or.th/th/pr-news/ETDA-Updates-Digital-Citizen-Courses.aspx
อ้างอิง
ฑิวาวรรณ สุวานิโช และคณะ. (2565). ถึงเวลาสร้างเสริมทักษะความเป็นพลเมืองดิจิทัลให้กับเด็กไทย.
ธัญธัช วิภัติภูมิประเทศ. (2566). ทักษะการเป็นพลเมืองดิจิทัลของนักศึกษาระดับปริญญาตรี.
นันทิยา ดวงภุมเมศ. (2563). การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล “หลักการ” และ “เครื่องมือ” เพื่อเสริมสร้างเด็กและเยาวชนพลเมืองรู้เท่าทันสื่อ.
พนม คลี่ฉายา. (2563). ผลการสำรวจข่าวปลอมและข้อมูลสุขภาพที่ไม่ถูกต้องในสื่อสังคมออนไลน์.
วรลักษณ์ สงวนแก้ว. (2559). Digital Citizens: พลเมืองดิจิทัล
วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง. (2561). คู่มือพลเมืองดิจิทัล. สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม.
วันศิริ นิลสุขขา และ สุภาวดี โสภาวัจน์. (2565). พลเมืองดิจิทัลในเด็กปฐมวัย.