วันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 58 และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เห็นชอบให้เด็กแรกเกิดถึง 6 ปี ที่อาศัยอยู่กับผู้ปกครองในครัวเรือนรายได้น้อย (ครัวเรือนที่สมาชิกมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาท ต่อคน ต่อปี) ได้รับเงินอุดหนุนฯ ในอัตรา 600 บาท ต่อคนต่อเดือน และดำเนินการตามระเบียบกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ว่าด้วยการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด พ.ศ. 2565 นั้น กระทรวง พม. ได้มีการพัฒนาการดำเนินงานด้านการลงทะเบียน โดยผู้ปกครองสามารถลงทะเบียนขอรับเงินอุดหนุนฯ ได้ทั่วประเทศ ได้แก่ 1) กทม. ที่สำนักงานเขต 2) เมืองพัทยา ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา และ 3) ส่วนภูมิภาค ที่ อบต. หรือเทศบาล รวมทั้งสามารถลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “เงินเด็ก” และด้านการคัดกรองและการจ่ายเงิน โดยผู้ลงทะเบียนยื่นเอกสารครบถ้วนผ่านช่องทางที่กำหนดให้มีการติดประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ ณ ที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือผ่านเว็บไซต์ ซึ่งบุคคลที่มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถยื่นคัดค้านคุณสมบัติผู้มีรายชื่อตามประกาศได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ประกาศรายชื่อ นอกจากนี้ กระทรวง พม. ได้เชื่อมโยงและนำระบบสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการตรวจสอบกลั่นกรอง และการจ่ายเงินแก่ผู้มีสิทธิ อาทิ ฐานข้อมูลประชาชนและบริการภาครัฐ (Linkage Center) ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และระบบการจ่ายเงินผ่าน Prompt Pay ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชน
นางอภิญญา กล่าวว่า สำหรับการขับเคลื่อนโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดในปีงบประมาณ 2567 มีเด็กที่ได้รับเงินอุดหนุนฯ รวมทั้งสิ้น 2,678,588 ราย คิดเป็นเงินทั้งสิน 17,559,910,600 บาท โดยเด็กที่มีสิทธิ คิดเป็นร้อยละ 81.52 ของจำนวนเด็กอายุ 0 – 6 ปี ทั่วประเทศ และด้วยมติการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 67 และมติการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 67 เห็นชอบการขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการโดยรัฐ ด้านสวัสดิการกลุ่มเปราะบาง โดยปรับการสนับสนุนเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดจนถึง 6 ปี แบบถ้วนหน้า ซึ่งขณะนี้ สำนักงานปลัดกระทรวง พม. อยู่ระหว่างการเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม กระทรวง พม. โดย ดย. ได้รับงบประมาณเงินอุดหนุนฯ ตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2568 เป็นเงิน 16,824,349,800 บาท สำหรับกลุ่มเป้าหมาย 2,344,240 ราย และกรณีการให้เงินอุดหนุนฯ แบบถ้วนหน้า จะต้องขอรับงบประมาณเงินอุดหนุนฯ เพิ่มเติม 6,700,159,800 บาท มีกลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้น 923,053 ราย ทำให้จะต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น 23,524,509,600 บาท สำหรับเด็กแรกเกิด 3,267,293 ราย
นางอภิญญา กล่าวว่า นอกจากนี้ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 เป็นต้นมา กระทรวง พม. โดย ดย. ได้ดำเนินการสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุกแก่กลุ่มเป้าหมายผ่านหน่วยงานและอาสาสมัครในพื้นที่เกี่ยวกับการยื่นคำร้องขอลงทะเบียน เพื่อขอรับสิทธิเงินอุดหนุนฯ อ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ อาทิ แผ่นพับ โปสเตอร์ และคลิปวิดีโอ ทั้งในรูปแบบเอกสารและไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์กรมกิจการเด็กและเยาวชน (www.dcy.go.th) Facebook : ศูนย์ปฏิบัติการโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด และแอปพลิเคชัน “เงินเด็ก” เป็นต้น อีกทั้งมีการประชุมขับเคลื่อน ติดตามผลการดำเนินงาน รับฟังข้อเสนอแนะ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด 76 แห่งทั่วประเทศ และเครือข่ายในพื้นที่เป็นประจำทุกเดือน รวมถึง การ X-Ray ค้นหาเด็กที่ยังเข้าไม่ถึงสิทธิ โดยการทาบข้อมูลเด็กเกิดใหม่ในพื้นที่ ผ่านฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์กับข้อมูลการยื่นคำร้องขอลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิในระบบฐานข้อมูลโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ซึ่งหากพบข้อมูลเด็กแรกเกิดที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิ จะดำเนินการให้เข้าสู่ระบบการลงทะเบียนขอรับสิทธิต่อไป ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2567 ได้ดำเนินการในพื้นที่ 9 จังหวัดนำร่อง มีเด็กที่ได้รับการติดตามแล้วจำนวนทั้งสิ้น 1,867 คน และในปีงบประมาณ 2568 ได้ขยายพื้นที่การดำเนินงานเพิ่มขึ้นครอบคลุมอีก 28 จังหวัด โดนเด็กแรกเกิดที่อายุครบ 6 ปี มีการติดตามและจัดสวัสดิการสังคมรายครัวเรือน ใน 5 มิติ ประกอบด้วย มิติด้านสุขภาพ รายได้ การเข้าถึงบริการของรัฐ การศึกษา และความเป็นอยู่ เพื่อให้เด็กได้รับการช่วยเหลือและดูแลอย่างต่อเนื่อง
นางอภิญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของเรื่องการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสำหรับเด็กและเยาวชน กลุ่มเปราะบาง เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและช่วยเหลือให้ครอบครัวของเด็กและเยาวชนสามารถรับมือกับสภาพปัญหาและพึ่งพาตนเองได้ นั้น กระทรวง พม. โดย ดย. ได้จัดสวัสดิการเด็กในครอบครัวยากจน โดยสนับสนุนเงินสงเคราะห์สำหรับเด็กที่อาศัยอยู่ในครอบครัวยากจน รายละ 1,000 บาท ต่อเด็ก 1 คน และไม่เกิน 3,000 บาท สำหรับครอบครัวที่มีเด็กเกินกว่า 1 คน โดยใน ปีงบประมาณ 2567 ได้ให้ความช่วยเหลือแล้ว 95,731 ราย เป็นเงิน 115,083,000 บาท และในปีงบประมาณ 2568 มีเป้าหมายให้ความช่วยเหลือเด็ก 172,625 ราย วงเงินงบประมาณ 172,625,000 บาท อีกทั้งจัดสวัสดิการครอบครัวอุปถัมภ์ โดยสนับสนุนเงินอุดหนุนช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูเด็กในครอบครัวอุปถัมภ์ แก่บุคคลที่เป็นเครือญาติหรือมิใช่เครือญาติที่ให้การดูแลเด็กกำพร้าหรือถูกทอดทิ้ง ซึ่งครอบครัวประสบปัญหาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ รายละ 2,000 บาท ต่อเดือน โดยในปีงบประมาณ 2567 ได้ให้การ ช่วยเหลือแล้ว 5,334 คน เป็นเงิน 127,124,000 บาท และในปีงบประมาณ 2568 มีเป้าหมายให้ความช่วยเหลือ 5,297 ราย วงเงินงบประมาณ 127,128,000 บาท นอกจากนี้ มีกองทุนคุ้มครองเด็ก โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือเด็กและครอบครัวที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนโดยในปีงบประมาณ 2567 ได้ให้ความช่วยเหลือแล้ว 3,500 ราย เป็นเงิน 22,345,480 บาท และในปีงบประมาณ 2568 มีเป้าหมายให้ความช่วยเหลือ 4,000 ราย วงเงินงบประมาณ 24,414,000 บาท