นายชนุดร เชื้อพราหมณ์ (เทล) นายณัฐพงศ์ เยี่ยมชัยภูมิ (ณัฐ) นายศิรสิทธิ์ ตัณฑะเตมีย์ (เชค) นายธนภูมิ เรืองไพศาล (ภูมิ) นายสรวิชญ์ ศรีใหม่ (สอ) นายธนวัฒน์ เรืองอริยฉัตร (ปาล์ม) นายกำธร โทนสังข์อินทร์ (เอก) และ นายอนีส สายสลาม (อนีส) ทีมมดไฟ@FIET นักศึกษาภาควิชาครุศาสตร์ไฟฟ้า คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2565 จัดโดยสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การแข่งขันหุ่นยนต์ ABU ROBOT CONTEST THAILAND CHAMPIONSHIP 2022 จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น)

ชนุดร ในฐานะหัวหน้าทีม กล่าวว่า การแข่งขันในครั้งนี้เป็นการแข่งขันออกแบบหุ่นยนต์ในภารกิจ พิชิตวัฏจักรหอคอย สู่แดนภารตะ ซึ่งเป็นเกมของอินเดีย ภายใต้กติกาคือ ในหนึ่งทีมจะมีหุ่นยนต์ 2 ตัว ช่วยเหลือกันทำภารกิจทำลายหอคอยลาโกริของคู่แข่งขันให้ได้อย่างน้อย 1 อัน โดยหุ่นยนต์ต้องอยู่ห่างจากลาโกริ 3.5 เมตร หุ่นยนต์ R1 ต้องยิงไปที่ Ball on head ของฝ่ายตรงข้าม ซึ่ง Ball on Head จะติดอยู่ที่หัวของหุ่นยนต์ที่อยู่สูงจากพื้น 1.3 เมตร และมีระยะห่าง 3.5 เมตร ส่วนหุ่นยนต์ R2 ต้องหยิบลาโกริจากพื้น แล้วนำขึ้นมาวางต่อกันให้ได้ หากสามารถวางลาโกริเรียงต่อกันและลูกบอลไม่ตกจากหุ่นยนต์จะได้คะแนน โดยต้องทำภารกิจภายในเวลา 1 นาที โดยน้ำหนักรวมของหุ่นยนต์ทั้งสองตัว ชุดบังคับ และแบตเตอรี่ชุดหลักที่ใช้ในการแข่งขันจะต้องรวมแล้วไม่เกิน 50 กิโลกรัม

“หุ่นยนต์ทั้งสองตัวมีระบบการทำงานที่เกื้อหนุนต่อกันเป็นทีม โดยหุ่นแต่ละตัวจะทำหน้าที่แตกต่างกัน ซึ่งกว่าจะออกแบบหุ่นยนต์ทั้ง 2 ตัว เรามีการคิดค้นและทดลองมาเยอะมาก ตั้งแต่แรกเริ่มคือการออกแบบโครงสร้าง การเขียนโปรแกรม การออกแบบระบบกลไกต่างๆ ของหุ่นยนต์ ทดลองยิง ทดลองเล่นจนกระทั่งมาลงตัวที่หุ่น 2 ตัวนี้ ซึ่งในอนาคตต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นเรื่อยๆ”

ชนุดร ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมแล้วตนยังรับหน้าที่เดินวงจรไฟฟ้าด้วย จึงรู้สึกดีใจและภูมิใจที่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ โดยทางทีมได้ทุ่มเทออกแบบหุ่นยนต์และฝึกฝนอย่างหนัก

“ตลอดระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา ในทีมแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบว่าจะทำอะไรบ้าง คือเรียนไปด้วยและออกแบบหุ่นยนต์ไปด้วย โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำ การที่ได้ร่วมลงแข่งขันในครั้งนี้ทำให้ได้เรียนรู้ในเรื่องวงจรที่ซับซ้อนขึ้น ได้ลงมือทำจริง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้เมื่อจบออกไปแล้วไปสอนเด็กได้”

ด้านศิรสิทธิ์ ณัฐพงศ์ สรวิชญ์ และอนีส รับหน้าที่ด้านโครงสร้าง เล่าว่า การเข้าแข่งขันในครั้งนี้ ถือเป็นประสบการณ์ที่ดี โดยเฉพาะความรับผิดชอบในเรื่องโครงสร้างซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการออกแบบ แม้ว่าเคยเรียนในห้องเรียนมาแล้วแต่การลงมือปฏิบัติจะทำให้ได้เรียนรู้ของจริง

“เราสามารถนำทฤษฎีจากในห้องเรียนมาประยุกต์ใช้กับการออกแบบหุ่นยนต์ บางอย่างอาจจะต้องปรับเปลี่ยนไปตามปัญหาที่เกิดขึ้นและได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีมซึ่งทำให้รู้สึกประทับใจ”

เช่นเดียวกับ สรวิชญ์และอนีส เล่าว่า ได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ จากการทำงาน ซึ่งการทำหน้าที่โครงสร้างนอกจากจะจัดหาอุปกรณ์แล้ว ยังต้องออกแบบอุปกรณ์ในเรื่องความปลอดภัยด้วย

“เรื่องความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะเครื่องมือช่างแต่ละชนิดถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับงานที่แตกต่างกัน ซึ่งการได้รับรางวัลในครั้งนี้รู้สึกภาคภูมิใจมาก”

ด้านธนวัฒน์ และธนภูมิ ทำหน้าที่ติดตั้งโปรแกรม และกำธร ซึ่งทำหน้าที่เดินวงจรไฟฟ้า สะท้อนถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ในเรื่องการเขียนโค้ดดิ้ง และการเดินวงจรไฟฟ้า โดยทุกคนในทีมมีความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวเพื่อให้ได้หุ่นยนต์สมบูรณ์แบบที่สุดในการแข่งขัน

“ประสบการณ์ที่ได้จากการแข่งขันครั้งนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนและการทำงานในอนาคตได้ รู้สึกดีใจที่เป็นได้เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันในครั้งนี้ ทุกคนในทีมต่างทุ่มเทให้กับการแข่งขันครั้งนี้มาผลที่ได้มาก็รู้สึกดีใจและภูมิใจ”

ด้าน ดร.กัญญุมา คามาตะ อาจารย์ประจำภาควิชาครุศาสตร์ไฟฟ้า คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มจธ. อาจารย์ที่ปรึกษาทีม กล่าวว่า การส่งทีมเข้าแข่งขันในแต่ละปีเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษาได้เรียนรู้ประสบการณ์การทำงานเป็นทีม การส่งเสริมให้นักศึกษากล้าแสดงออกและได้พัฒนาตัวเองจากสิ่งที่เรียนมาทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ รวมถึงการได้เห็นมิตรภาพต่างสถาบันซึ่งถือเป็นภาคีเครือข่ายในการทำงานร่วมกันในอนาคต

“เวทีนี้ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้ ได้พัฒนาทักษะจากในห้องเรียนมาสู่การปฏิบัติจริงเป็นการสร้างผลงานของตัวเอง ในแต่ละปีเราไม่ได้ทำสำเร็จหรือคว้ารางวัลมาทุกปี แต่สิ่งที่ได้มากกว่ารางวัลคือมิตรภาพจากเพื่อน และประสบการณ์จากการสร้างหุ่นยนต์ อีกทั้งการนำเศษเหล็กที่เป็นวัสดุเหลือใช้มาสร้างหุ่นยนต์ นักศึกษาก็จะมีมุมมองที่กว้างขึ้นและมีการพัฒนาต่อยอดในการนำไปใช้หรือไปประกอบอาชีพในอนาคต”

ดร.กัญญุมา กล่าวทิ้งท้ายว่า เวทีนี้เหมือนเป็นเวทีปล่อยของให้เยาวชนได้แสดงศักยภาพความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ การลงมือทำ และการแก้ปัญหา รวมทั้งยังช่วยพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาในด้านต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศ

ทีมา : ภาพ/ข่าว จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

2022-09-09

Written by:

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

X